‘Mandala County of Truth’ มณฑลแห่งสัจธรรม

‘Mandala County of Truth’ มณฑลแห่งสัจธรรม

               “ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่จีรังถาวร” คือสัจธรรมหลักของพุทธศาสนา

               ‘Mandala’ เป็นศิลปะสวยงาม ลึกซึ้งไปด้วยปรัชญา เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ปราศจากทุกข์ได้ ช่วยให้เกิดความเจริญร่มเย็น เพราะปรัชญาคำสอนนั้น เป็นเหตุผลที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของกฎธรรมชาติของชีวิตที่ทุก ๆคนต้องพบเจอ

               ‘Mandala’ เป็นสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณและพิธีกรรมในพุทธศาสนา และยังเป็นตัวแทนของจักรวาล โดยทั่วไปแล้วแมนดาลาจะเป็นรูปวงกลม ที่มีรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสอยู่ด้านใน มีประตู 4 ทิศ และมีวงกลมเป็นจุดศูนย์กลางเสมือนมณฑลแห่งสัจธรรม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสมดุลของจักรวาลและเป็นปรัชญาเพื่อเตือนใจในการดำเนินชีวิต

ความหมายของ ‘Mandala’ ในพจนานุกรมแปลว่า ‘รูปวงกลม’ ซึ่งเป็นวงกลมที่เชื่อมโยงกับศาสตร์หรือพิธีกรรมอันสืบเนื่องมาจากเรื่องของความเชื่อ ศาสนา และปรัชญาต่างๆ

คำว่า ‘Mandala’ มาจากภาษาสันสกฤต ในภาษาทิเบตจะเรียกว่า ‘kyil-khor’ หรือ กิลคอร์ มีความหมายตามรูปศัพท์ว่า “ซึ่งล้อมรอบจุดศูนย์กลาง” โดยใช้ในความหมายควบคู่ไปกับคำว่า “โพธิ” หรือการตื่น การบรรลุธรรม และคำว่า ‘La’ ลา หมายถึง วงล้อที่หลอมรวมแก่น ดังนั้นจึงแปลได้ว่า ‘Mandala’ คือ ที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ ในขณะที่รู้แจ้งหรือตรัสรู้

‘Mandala’ สัญลักษณ์แห่งการตื่นรู้ ซึ่งมักจะได้รับการประดิดประดอยเป็นรูปทรงวิหาร 4 ประตู ซึ่งหมายถึงทิศทั้ง 4 นั่นคือพรหมวิหาร 4 เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และการสร้าง ‘Mandala’ ถือเป็นการบรรลุธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งการสร้างมีหลายแบบ แต่แบบของพระทิเบต จะสร้างด้วยการพ่นทรายที่ผสมกับสี และทำการวาดออกมาด้วยจิตใจที่สงบสุข ตั้งมั่น จนสร้างเสร็จ จากนั้นก็ทำลาย และสร้างขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เปรียบเหมือนดั่งปรัชญาคำสอนของพุทธศาสนาที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่จีรังถาวร ไม่มีอะไรยั่งยืน และไม่มีอะไรจะสามารถหลีกเลี่ยงได้

Leave a Reply